Search

เพิ่ม "โรคโควิด-19" ต้องห้ามเข้าไทย ไว้สกัดต่างชาติ - ไทยรัฐ

svetkonews.blogspot.com

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดย 4 ใน 5 ราย เป็นชาวอินเดีย เป็นหญิง อายุ 7 เดือน และ 30 ปี และชายอายุ 36 ปี ทั้ง 3 ราย เป็นคนในครอบครัว เดียวกัน มีอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว รายที่สี่เป็นชายอายุ 62 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ส่วนผู้ติดเชื้อรายที่ 5 เป็นหญิงไทยวัย 44 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางมาจากสวิตเซอร์แลนด์ ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ ทำให้ไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,511 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ 1 ราย ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,343 ราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 109 ราย ผู้เสียชีวิตคงเดิมที่ 59 ราย

นายกฯโวระบบ สธ.ไทยเข้มแข็ง

อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมทางไกลระดับสูงเพื่อฉลองครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อจริงเพียงร้อยคนเศษ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือที่ดีจากประชาชน ไม่มีประเทศใดจะปลอดจากเชื้อโควิด-19 ได้ จนกว่าทุกประเทศจะปลอดจากเชื้อดังกล่าวไปด้วยกัน

เยียวยา อสม.–อสส.กว่า 1 ล้านคน

ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.รัชดา ธนาดิเรก และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าก่อนเข้าสู่การประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ย้ำถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการประเมินจากองค์การเพื่อ ความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดว่าสามารถนำมาใช้ทั่วไปได้ราวปลายปี 64 ขอให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และการรักษาระยะห่าง นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติโครงการค่าตอบแทนเยียวยาชดเชยและเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนให้ อสม.และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กทม.รวมจำนวนไม่เกิน 1,050,306 คนต่อเดือนตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.2563 วงเงินไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงรุกรับมือการระบาดระลอกใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

เพิ่มเงินพิเศษกำนัน–ผญบ. 7 เดือน

ด้าน น.ส.รัชดากล่าวเสริมว่า ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.เห็นชอบหลักการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบที่ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนเป็นระยะเวลา 7 เดือน วันนี้ ครม.อนุมัติงบกลางปี 63 รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 677.79 ล้านบาท ให้บุคคลต่างๆ ข้างต้น ทั้งสิ้น 273,321 คน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย.63 รวม 7 เดือน 1.กำนันและผู้ใหญ่บ้านรับ 500 บาทต่อเดือน รวม 259.54 ล้านบาท 2.แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบรับ 300 บาทต่อเดือน รวม 418.25 ล้านบาท นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลางปี 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาระบาดของโควิดระลอก 2 จำนวน 204 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

เพิ่มโควิด–19 โรคต้องห้ามเข้าไทย

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโรคต้องห้ามตามมาตรา 12 (4) และมาตรา 44 (2) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเพื่อสกัดกั้นไม่ให้โรคโควิด-19 กำหนดไว้ ห้ามคนต่างชาติที่เป็นโรคโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานในที่ประชุมว่า ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. คัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ 7,049,619 ราย พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการ 2,313 ราย แยกเป็นที่ด่านสนามบิน 2,299 ราย ด่านท่าเรือ 2 ราย และด่านพรมแดน 12 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,255 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 811 ราย เสียชีวิต 58 ราย โดยพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกักกันในสถานที่ที่รัฐกำหนดสะสม 318 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.73 ทำให้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงเกิดการระบาดใหญ่ได้

ทั้งนี้ โรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2535) ตามมาตรา 12 (4) และมาตรา 44 (2) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ประกอบด้วย 1.โรคเรื้อน 2.วัณโรคในระยะอันตราย 3.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 4. โรคยาเสพติดให้โทษ 5.โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 6.โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

เล็งใช้ร้านสปาเป็นที่กักตัว

วันเดียวกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวหลังเยี่ยมชมร้านสปาแบบไทย ในจังหวัดพัทลุงว่ากำลังทำเรื่องสถานที่กักตัวทางเลือกรูปแบบใหม่ หรือ Wellness Quarantine โดยสถานประกอบการสปา เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านความเห็นชอบในหลักการที่จะใช้ร้านนวดสปา หรือนวดไทยที่ได้รับความนิยมมากจากต่างชาติ และต่างชาติอยากมาใช้บริการ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะใช้สปาเป็นสถานที่กักตัว 14 วัน เนื่องจากที่ผ่านมาการกักตัวต้องอยู่แต่ในห้องที่กำหนด แต่สิ่งสำคัญที่เน้นก็คือเรื่องความปลอดภัยที่จะควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นจะยังคงมาตรการความปลอดภัย ได้แก่ 1.ก่อนนักท่องเที่ยวจะเข้าไทยต้องมีการตรวจโควิดก่อน 72 ชั่วโมง 2.สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย รวมถึงมีการซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าประเทศ 3.เมื่อมาถึงไทยต้องอยู่ในสปาหรือในร้านที่ไทยกำหนด เป็นต้น

ที่สำคัญชุมชนต้องยินยอม

“สำหรับสถานประกอบการหรือสปาที่จะเข้าร่วมเป็นสถานที่กักตัวทางเลือกรูปแบบใหม่นั้นหลักๆจะต้องมีระบบการบำบัดน้ำที่ดี มีบริเวณแยกเป็นสัดส่วน มีขอบเขตไม่ให้ผู้กักตัวออกนอกสถานที่ ต้องมีความเชื่อมโยงกับชุมชนสร้างประโยชน์กับชุมชน และจะต้องการยินยอมจากชุมชนก่อน และก่อนเปิดได้ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานจาก สบส.ด้วย ส่วนนักท่องเที่ยวที่จะมาพักนั้น ต้องได้รับการตรวจโควิดระหว่างพัก 2-3 ครั้งก่อน เพื่อมั่นใจว่าไม่เป็นโควิด นอกจากนี้ในส่วนของคนที่ให้บริการเองก็จะอยู่ในระบบกักตัวไม่ออกไปปะปนกับประชาชน เน้นให้เกิดความปลอดภัย ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าว

เล็งใช้กระบี่เป็นพื้นที่นำร่อง

เมื่อถามว่า รูปแบบสปาดังกล่าวจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ควบคู่กันได้ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาจะมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่รายละเอียดที่ชัดเจนคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถเสนอขั้นตอนการดำเนินงานกับ ศบค.ชุดเล็ก และคาดว่าหลังจากนั้นภายใน 2-3 สัปดาห์หน้าจะเห็นเป็นรูปร่างและเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบได้ ส่วนการรับสมัครและประเมินสถานบริการสปา ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือเราเน้นในเรื่องของความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยขณะนี้มีสถานบริการสปาที่สนใจร่วมทำระบบประมาณ 4-5 แห่ง แต่รายละเอียดที่ชัดเจนต้องไปหารือกับสมาคมสปาอีกครั้ง เบื้องต้นอาจจะใช้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต่างชาตินิยมมาเที่ยว

3 ปัจจัยทำไทยเสี่ยงติดโควิด

วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ส่วนตัวขณะนี้มี 3 เรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกันในไทยที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย 1.สถานการณ์รอบประเทศไทย วิกฤติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 600 กว่าราย รวมถึงจำนวนการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น คลื่นคนเมียนมาที่พยายามผ่านเข้าทางชายแดนไทยมีอยู่ตลอดเวลา มาเลเซียก็มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมมีตัวเลขหลักเดียวแต่ขณะนี้เพิ่มเป็นสองหลัก บางวันทะลุสามหลัก ที่สำคัญจุดที่ระบาดอยู่ใกล้ชายแดนไทย 2.ปัจจัยของภูมิอากาศ ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฝน อากาศเย็นลง ประสบการณ์เกี่ยวกับไวรัสทั่วโลกตั้งแต่ร้อยปีที่ผ่านมา ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ไวรัสระบาดได้ง่าย อยู่ในอากาศได้นานขึ้น ที่สำคัญเมื่อฝนตกคนจะหลบเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปิด มีความเสี่ยงหากมีใครสักคนที่มีเชื้อก็มีโอกาสเกิดการกระจายได้ง่ายขึ้น และประเทศทางตะวันตกที่อุณหภูมิลดลงเป็นอีกจุดเสี่ยง เพราะฉะนั้น องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่า ต่อจากนี้ไปเราอาจจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งโลก และ 3.เกิดกิจกรรมชุมนุมที่ทำให้คนเข้ามารวมตัวกัน และจำนวนไม่น้อยละเลิก มาตรการป้องกัน ทั้งไม่ใส่หน้ากาก อยู่ใกล้กัน อีกทั้งพูดตะโกนใส่กัน เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น

เป็นไปไม่ได้ไทยไร้คนติดเชื้อ

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาตั้งแต่ปัจจัยแรก มีโอกาสที่มีคนติดเชื้อเดินอยู่ในประเทศไทย เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าไม่มี หากคนเหล่านั้นไม่ระวังตัวเอง และคนอื่นก็ไม่ระวังเขา และมีกิจกรรมต่างๆที่มีรวมตัวกัน เป็นสิ่งที่น่ากลัว จึงเป็นห่วง 3 ปัจจัยที่ว่าที่กำลังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เป็นอัตราเสี่ยงสูง จึงฝากเตือนเพราะไม่อยากเห็นตัวเลขการเพิ่มมากขึ้น แต่หากมีเกิดขึ้นก็อย่า ตื่นตระหนก ขอให้รีบกลับมาระวังตัวเอง ทำสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องทำ เพียงแต่เราอาจจะละเลยที่จะไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือ สแกนเช็กอินเช็กเอาต์

ห่วงชุมนุมทำเชื้อกระจายเร็ว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า อยากให้ทบทวนกิจกรรมชุมนุมทั้งหลาย คือช่วงเวลานี้เป็นช่วงวิกฤติของประเทศ หากเกิดการชุมนุมและเกิดการติดเชื้อกระจาย เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากการชุมนุมกลุ่มใหม่ของการติดเชื้อ นึกภาพได้เลยว่าจะกระจายเร็วแค่ไหน เพราะในการชุมนุมจำนวนไม่น้อยเป็นนักเรียน นักศึกษา หากมีการติดเชื้อและกลับเข้าไปในโรงเรียน ซึ่งทั่วโลกก็ให้คุมเข้มโรงเรียน มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ของการแพร่ระบาดที่ต้องระวังมากที่สุด ฝากย้ำเตือนถึงสิ่งที่เราทำดีมาตลอดในมาตรการป้องกันตนเองอย่าละเลย เพราะเป็นวิธีเดียวที่เราจะดักทันก่อนที่จะแพร่ระบาดอย่างรุนแรง

ทหาร 180 นายถึงไทยกักตัวชลบุรี

ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กองทัพบกกล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อเบาบางลง ส่วนที่บริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมีความร่วมมือที่ดีขึ้นมาก ในเรื่องการปิดกั้นชายแดน และการระดมสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่ยอมรับว่ายังไม่สามารถสกัดกั้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กองกำลังชายแดนต้องพยายามปลุกกำลังต่างๆ โดยเฉพาะประชาชน รวมถึงเจ้าของกิจการที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาร่วมมือช่วยเป็นหูเป็นตา โดยจากจุดคัดกรองทั่วประเทศ 199 จุด ใช้เจ้าหน้าที่ทำงาน 3,000 คนต่อวัน ช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมามีคนเดินทางเข้าออกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกว่า 4.7 ล้านคน ส่วนกรณีที่กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ผลัดที่ 1 ชุดแรก จำนวน 180 นาย เดินทางกลับมาถึงไทยเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น.โดยเครื่องบินเช่าเหมาลำขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่ state quarantine จ.ชลบุรี

7 วันติดเชื้อเพิ่มร่วม 2 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในต่างแดน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 31.5 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 970,000 คน รักษาหาย 23.1 ล้านคน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนว่าการติดเชื้อทั่วโลกอยู่ในอัตราเร่ง เพราะนับตั้งแต่วันที่ 14-20 ก.ย. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.99 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงวันที่ 7-13 ก.ย.ถึงร้อยละ 6 ขณะที่จุดศูนย์กลางแพร่ระบาดคือสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อรวม 7.04 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 204,000 คน ตามด้วยอินเดียติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 5.56 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 89,000 คน และบราซิลติดเชื้อรวม 4.56 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 138,000 คน

ยุโรปกลับมาระบาดหนัก

ด้านในภูมิภาคยุโรป กระทรวงสาธารณสุขสเปนเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศรวมทั้งหมด 31,428 คน พื้นที่ความเสี่ยงรุนแรงคือกรุงมาดริด ซึ่งทางการเตรียมบังคับใช้มาตรการงดเว้นการเดินทางที่ไม่จำเป็นในพื้นที่เมืองหลวง ที่สาธารณรัฐเช็ก นายอันเดรซ บาบิส นายกรัฐมนตรีเช็ก ได้ออกแถลงว่า การแพร่ระบาดระลอกสองในประเทศได้กลับมาอีกครั้ง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,476 คน และยอมรับความผิดพลาดที่สั่งการเปิดเมืองเร็วเกินไปเมื่อช่วงกลางปี ขณะที่อังกฤษ นายไมเคิล โกฟ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เปิดเผยแผนการล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ หลังสถานการณ์เข้าสู่การระบาดระลอกสองอย่างเป็นทางการ โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะออกคำแนะนำให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านหากสามารถทำได้ ผับบาร์และร้านอาหารทั่วประเทศ จะต้องปิดให้บริการภายในเวลา 22.00 น. ห้ามรวมตัว สังสรรค์เกิน 6 คน ทั้งยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬา

เมียนมาล็อกดาวน์แบบหย่อนๆ

ส่วนในอาเซียน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมายังคงรุนแรง โดยล่าสุดพบติดเชื้อใหม่อีกกว่า 600 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเกิน 5 พันคน แม้เมื่อวันที่ 21 ก.ย.รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์นครย่างกุ้ง อนุญาตให้เฉพาะบริษัทห้างร้านที่จำเป็นเปิดให้บริการ อาทิ ธนาคาร ร้านขายยา ปั๊มน้ำมัน โกดังเก็บอาหาร ธุรกิจด้านน้ำดื่ม ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านเท่านั้น ขณะที่ผู้อยู่อาศัยในนครย่างกุ้งห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวเอพีรายงานว่า ในวันต่อมาหลังคำสั่งมีผลบังคับใช้ ยังคงเห็นร้านรถเข็นข้างทาง หรือร้านค้าอื่นๆเปิดให้บริการตามปกติ ด่านตรวจโรคก็มีเจ้าหน้าที่ประจำเพียงประปราย มีไม่กี่ด่านที่เข้มงวด ขณะที่เทศบาลมณฑลยูนนานของจีน ออกแถลงการณ์ว่า จากกรณีการตรวจพบชาวเมียนมา 2 คน ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองพรมแดนรุ่ยลี่ของจีน และส่งผลให้ทางการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมือง พร้อมปิดพรมแดนนั้น ผลสรุปว่าจากการตรวจหาเชื้อประชากรในเมืองรุ่ยลี่ทั้งหมดหลายหมื่นคน ไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว และเบื้องต้นทางการได้ยกเลิกคำสั่งอยู่แต่ในที่พักอาศัยแล้ว แต่ยังคงมาตรการปิดสถานที่คนพลุกพล่าน อาทิ โรงภาพยนตร์ ผับบาร์ และร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่

รัสเซียจดทะเบียนวัคซีนตัวที่ 2

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าโครงการระดมทุนจัดหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพื่อรับประกันความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และนำไปจัดสรรให้ประเทศต่างๆอย่างเท่าเทียม หรือโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ได้มีทั้งหมด 156 ประเทศ ที่ตัดสินใจเข้าร่วม ในจำนวนนี้เป็นประเทศร่ำรวย 64 ประเทศ ทั้งยังมีอีก 38 ประเทศให้คำมั่นว่าจะเข้าร่วม แต่สหรัฐฯ และจีนยังไม่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่ รัสเซียเตรียมการจดทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวที่ 2 พัฒนาโดยสถาบันเวคเตอร์ในแคว้นไซบีเรีย ภายในวันที่ 15 ต.ค.หลังก่อนหน้านี้จดทะเบียนวัคซีนสปุตนิก 5 ของสถาบันกามาเลยา เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

Let's block ads! (Why?)



"สกัด" - Google News
September 23, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/2RR5f6s

เพิ่ม "โรคโควิด-19" ต้องห้ามเข้าไทย ไว้สกัดต่างชาติ - ไทยรัฐ
"สกัด" - Google News
https://ift.tt/2XSFEwv


Bagikan Berita Ini

0 Response to "เพิ่ม "โรคโควิด-19" ต้องห้ามเข้าไทย ไว้สกัดต่างชาติ - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.